เออร์เนสต์ ดันลอป สวินตัน ได้ทำการค้นพบที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการพัฒนายานรบรูปแบบใหม่ แต่การพัฒนารถถังนั้นยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ หลังจากที่ได้อ่านหนังสือที่แต่งโดยเอช.จี. เวลลส์ แล้ว สวินตันก็ได้ดัดแปลงแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังต้นแบบของเขา
การทดลองต้นแบบของเขา ที่มีชื่อว่าเครื่องจักรลินคอล์นหมายเลขหนึ่ง ประสบผลสำเร็จบางประการ ในเดือนกันยายน ปี 1915 ผู้ให้กำเนิดเครื่องจักรชนิดนี้ เออร์เนสต์ ดันลอป สวินตัน ได้ส่งรายงานผลที่น่ายินดีไปยังเหล่าทหารยศสูง โดยระบุว่าพวกเขาได้สร้างยานยนต์ตีนตะขาบต้นแบบซึ่งสามารถข้ามสนามเพลาะที่มีความกว้างประมาณ 1.3 ม. และสูง 1.4 ม. ได้ และ “เป็นยานยนต์ที่หมุนรอบเพลาของตัวเองได้เหมือนสุนัขที่มีหมัดเกาะอยู่บนหาง”
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงนั้นช่างแตกต่างจากเรื่องราวที่เขาบอกกล่าวอย่างมาก โครงรถปืนใหญ่ของรถแทรกเตอร์นั้นไม่พร้อมที่จะรับภาระงานหนักในแต่ละวันตามวัตถุประสงค์ของตัวแบบซึ่งผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากได้ ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือโซ่ตีนตะขาบนั้นหลุดออกมาบ่อยๆ ระหว่างการใช้งาน พวกเขาจำเป็นต้องปรับปรุงต้นแบบอย่างเร่งด่วน หรือไม่ก็สร้างทางเลือกที่สามารถใช้งานได้จริง
การปรับปรุงต้นแบบตัวแรกใหม่อีกครั้ง
ลำตัวของยานยนต์นั้นดูคล้ายกับกล่องหุ้มเกราะ ห้องขับเคลื่อนซึ่งอยู่ที่ด้านหน้า มีพลขับนั่งอยู่สองนายซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน พลขับทางด้านขวาจะต้องใช้คันเหยียบเพื่อเดินเครื่อง ควบคุมคันโยกที่ใช้สำหรับเปลี่ยนเกียร์ และควบคุมล้อ “หลัง” ด้วยมือหมุน ในขณะที่พลขับทางด้านซ้ายมีหน้าที่ควบคุมตีนตะขาบด้านซ้ายและด้านขวาแยกจากกัน และควบคุมความเร็วของตีนตะขาบโดยใช้เบรกมือ
ด้านหลังของลำตัวนั้นเป็นห้องเครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์ฟอสเตอร์เดมเลอร์ที่ใช้น้ำมันเบนซินให้กำลัง 105 แรงม้า และยังมีห้องรบที่อยู่ตรงกลางลำตัวยานยนต์ แต่เครื่องจักรลินคอล์นหมายเลขหนึ่งนั้นไม่มีอาวุธใดๆ เลย
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาป้อมปืนหมุนได้ขึ้นมาสำหรับต้นแบบตัวนี้ด้วยเช่นกันแต่ก็ไม่เคยถูกนำมาติดตั้ง ที่จริงแล้ว รูปทรงของ “รถถังต้นแบบ” ยังคงใช้งานอยู่เป็นเวลานานถึง 2 ปีหลังจากที่มีการประดิษฐ์เรอโนลต์FT17 ของฝรั่งเศสซึ่งมีป้อมปืนหมุนได้ขึ้นมารูปทรงของห้องลูกเรือใน FT17 กลายมาเป็นแบบมาตรฐานของรถถัง และยังคงเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างวิศวกรและทหารในเรื่องที่ว่ายานรบใหม่นี้ควรใช้อาวุธแบบใด บรรดาผู้สร้างสรรค์ต้องการที่จะติดตั้งปืนใหญ่อัตโนมัติแบบวิคเกอร์สขนาด 40 มม. บนรถถังชนิดนี้ แต่สแตนลีย์ ฟอน โดนอป เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้เตือนว่าการขนส่งปืนเหล่านั้นเป็นจำนวนมากอาจกินเวลานานประมาณครึ่งปี
นี่เป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก “รถถังทำลายปืนกล” จะใช้งานได้ดีก็ต่อเมื่อมากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการผลิตขนานใหญ่ การตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียเวลาและทรัพยากร ซึ่งชาติที่ตกอยู่ในภาวะสงครามนั้นจะยอมให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาดแรงงานคนหนึ่งถึงกับพูดติดตลกว่า “เราคงจะดูโง่เต็มทีถ้าสงครามจบลงพรุ่งนี้”
คงไม่ต้องบอกว่า สงครามนั้นไม่ได้จบลงง่ายๆ
ความล่าช้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
ในขณะที่บรรดาวิศวกรและนายทหารกำลังศึกษาเกี่ยวกับข้อกำหนดทางเทคนิคของยานยนต์เพื่อทำความเข้าใจกลไกต่างๆ อย่างยากลำบาก ได้เกิดปฏิบัติการครั้งใหญ่ขึ้นที่แนวรบกองกำลังผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่างก็กำลังเตรียมตัวเพื่อเปิดฉากโจมตีใกล้ๆ กับเมืองลูส ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษบาซิล ลิดเดลล์ ฮาร์ท ได้เขียนเรื่องราวบทหนึ่งเกี่ยวกับปฏิบัติการครั้งนั้นซึ่งเขาเรียกมันว่า “สมรภูมิที่ไม่เป็นที่ต้องการ” ไว้ในหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของเขา
จอมพลดักลาส เฮก ได้ตั้งข้อสังเกตในเชิงลบเกี่ยวกับสภาพในพื้นที่ปฏิบัติการ โดยกล่าวว่า “พื้นที่นั้นโดยมากเป็นที่ราบและโล่งเตียน ไม่มีสิ่งกำบังกระสุนจากปืนกลและปืนเล็กยาวที่ยิงมาจากทั้งแนวสนามเพลาะของพวกเยอรมันและหมู่บ้านที่สร้างแนวป้องกันการรุกรานอยู่หลังแนวรบการรุกอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไปไม่ได้เลย” โชคไม่ดีที่กองบัญชาการฝรั่งเศสไม่ได้ฟังคำเตือนนี้
แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไรนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษอย่างเป็นทางการกล่าวถึงสมรภูมิครั้งนั้นว่า “…วันนั้นเป็นวันแห่งโศกนาฏกรรม และไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จที่จะบรรเทาความขมขื่นของเหตุการณ์ในวันนั้นได้เลย” จากข้อมูลทางสถิติ ทหารประมาณ 60,000 นายถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บระหว่างสมรภูมิลูสตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนจนถึงกลางเดือนตุลาคม ปี 1915
หากทหารอังกฤษมีรถถัง ณ เวลานั้น ตัวเลขความสูญเสียคงจะลดลงอย่างมากทีเดียว ไม่ใช่ความผิดของบรรดาวิศวกรที่เครื่องจักรลินคอล์นหมายเลขหนึ่งยังคงอยู่ระหว่างการปรับแต่ง พวกเขากำลังรับมือกับเทคโนโลยีใหม่และจำเป็นต้องมีเวลาเพื่อพัฒนามันให้เข้าที่เข้าทาง
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1915 วินสตัน เชอร์ชิลล์ ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อตั้ง Landships Committee ขึ้น ได้เดินทางไปยังแนวรบด้วยตัวเองในฐานะผู้บังคับการกองพัน ที่นั่นเอง เขาได้เห็นว่าบรรดาทหารขาดการสนับสนุนและอาวุธที่มีอานุภาพเป็นอย่างยิ่ง เขาพยายามที่จะกระตุ้นบรรดานายทหารโดยการบอกพวกเขาว่า “เรากำลังจะผลิตยานยนต์ตีนตะขาบเจ็ดสิบคันแล้วเสร็จในอังกฤษ แต่จะไม่นำยานยนต์คันไดเลยออกมาใช้งานจนกว่ายานยนต์เหล่านี้จะพร้อมทั้งหมด ยานยนต์เหล่านี้สามารรับมือกับสิ่งกีดขวางต่างๆ และขับข้ามสนามเพลาะ เชิงเทิน หรือคูน้ำได้ และยังมีปืนแม็กซิมสองถึงสามกระบอก แต่ละคันนั้นสามารถติดตั้งเครื่องพ่นไฟได้หนึ่งเครื่อง สิ่งเดียวที่สามารถหยุดพวกมันได้ก็คือการถูกปืนใหญ่ยิงอย่างจัง” อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ก็เลือกเส้นทางที่ต่างออกไป ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งปีกว่าที่คำกล่าวอ้างของเขาจะบังเกิดผล.
เมื่อถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 1915 ต้นแบบที่ได้รับการปรับปรุงก็พร้อมแล้ว มันได้ชื่อว่า “ลิตเติ้ล วิลลี่” เพราะว่าคนงานคนหนึ่งคิดว่ายานยนต์นี้ดูคล้ายร้อยโทวอลเตอร์ กอร์ดอน วิลสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาวิศวกรที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา
ลิตเติ้ล วิลลี่นั้นต่างจากต้นแบบก่อนหน้านี้มากทีเดียว ลำตัวของมันประกอบด้วยแผ่นเหล็กกล้าสำหรับใช้ทำหม้อน้ำที่ยึดด้วยหมุดลูกล้อนำของระบบขับเคลื่อนก็ถูกยกให้สูงขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อทำให้การข้ามภูมิประเทศอันขรุขระนั้นง่ายขึ้นยานยนต์นี้พร้อมแล้วสำหรับการทดลอง แต่ช่วงเวลานี้เองที่บรรดาบิดาของต้นแบบรถถังชนิดแรกได้หยุดสร้างสรรค์ผลงานของตน พวกเขาเริ่มโครงการใหม่ที่มีรูปทรงและผังการติดตั้งอาวุธที่ต่างออกไป (ไม่มีป้อมปืน) จากข้อมูลของสวินตัน แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก “เรือบกหุ้มเกราะ” เรื่องที่แต่งโดยเอช.จี. เวลลส์
เมื่อมีการตั้งชื่อ ยานยนต์ชนิดนี้ก็ยังคงมีความลึกลับตามมามากมาย
ชื่อนั้นหมายความว่าอย่างไร?
ยูสเตซ เทนนีสัน ดีเอนคอร์ท ประธานLandships Committee นั้นถูกครอบงำความคิดให้ยึดติดไปกับการเก็บความลับเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเหมือนความหวังของสวินตันและเพื่อนร่วมงานของเขาแม้กระทั่งเครื่องบินของอังกฤษเองก็ยังถูกห้ามไม่ให้บินผ่านโรงงานฟอสเตอร์ในขณะที่กำลังมีการประกอบยานยนต์อยู่ อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ก็ยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่ข้อมูลอาจจะรั่วไหลได้ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาชื่อรหัสใหม่สำหรับยานยนต์ชนิดนี้เพื่อปิดบังวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แท้จริงของมันจากหน่วยงานข่าวกรองของศัตรู ข้อกำหนดหลักก็คือ ห้ามอ้างอิงถึงเรือ แม้ว่ายานยนต์เหล่านี้จะเป็นยานยนต์ที่ใช้บนบกก็ตาม
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1915 ต้นแบบนี้ก็ได้ฉายาว่า “รถบรรทุกน้ำ” และชื่อนั้นก็ถูกใช้มาจนถึงวันคริสต์มาส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ปี 1915 สวินตันและร้อยโทดาลีย์ จอห์นส์ จากคณะกรรมการกลาโหมแห่งราชอาณาจักรได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนการเรียกขานนี้เสียใหม่ “ตู้บรรทุก” “ถังน้ำ” และแม้กระทั่ง “อ่างเก็บน้ำ” ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกที่นำมาพิจารณา ในที่สุด คำที่สั้นและก้องกังวาน “ถังเก็บน้ำ” ก็ถูกเลือกใช้ เรื่องที่ถูกกุขึ้นมาก็คือ โรงงานแห่งนี้กำลังผลิตถังเก็บน้ำเพื่อใช้กับอาณานิคมในเมโสโปเตเมีย อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรก็ได้เสียอาณานิคมเมโสโปเตเมียไป ดังนั้นจักรวรรดิรัสเซียจึงถูกเลือกให้เป็นลูกค้าสำหรับสัญญาปลอมๆ ฉบับนี้
แม้แต่รูปร่างที่แท้จริงของลำตัวยานยนต์ชนิดนี้ก็ยังเป็นที่รับรู้กันเฉพาะบุคคลที่เลือกสรรแล้วเพียงไม่กี่คนเท่านั้น การทดลองนั้นดำเนินไปในช่วงเวลากลางคืนเสียเป็นส่วนใหญ่ วันหนึ่ง บรรดาวิศวกรได้ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำการทดสอบเกราะของยานยนต์ และได้ร้องขอให้ทำการทดสอบกับปืนใหญ่เยอรมัน
มีการฝึกซ้อมการยิงปืนใหญ่ในทุ่งหญ้าไม่ไกลจากโบสถ์ลินคอล์นเก่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 1916 วอลเตอร์ วิลสันได้พนันกับโธมัส เฮเธอริงตันจาก Landships Committee โดยที่เฮเธอริงตันวางเดิมพันเป็นเงิน 50 ปอนด์อังกฤษว่าเขาจะยิงปืนใหญ่ถูกลำตัวยานยนต์ในนัดแรกที่ยิง บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าการคาดคะเนตำแหน่งของยานยนต์ผิดหรือไม่ก็เป็นเพียงการเล็งที่ไม่ดีพอ กระสุนลูกนั้นเกือบจะจบลงด้วยหายนะ หลังจากที่เฮเธอริงตันยิงปืน ปืนก็เกิดด้าน อย่างไรก็ตาม รอบที่เกิดปืนด้านนั้นที่จริงไม่ใช่ลูกปืนใหญ่ด้าน แต่มันเป็นลูกแบบหน่วงเวลา ลูกปืนใหญ่ถูกยิงลอยตรงไปยังตัวโบสถ์ บรรดาวิศวกรผู้ปราดเปรื่องแห่งยุคนั้นต่างก็รีบวิ่งออกไปเพื่อดูว่าโบสถ์ยังอยู่ดีหรือไม่ แล้วก็ใช้เวลาถึงสองชั่วโมงในการค้นหาลูกปืนใหญ่ด้วยพลั่วและไฟฉายในมือ
การทดลองครั้งต่อมาได้แสดงให้เห็นว่าเกราะนั้นสามารถทนแรงกระแทกได้ การทดสอบครั้งสุดท้ายนั้นถูกกำหนดไว้เพื่อสาธิตถึงอานุภาพของยานยนต์นี้ให้แก่ผู้ซื้อ ในตอนแรก การสาธิตนั้นถูกกำหนดให้มีขึ้นที่สนามกีฬาเวมบลีย์ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนสถานที่ในการสาธิตนี้ไปเป็นคฤหาสน์ของมาร์เควสแห่งซอลส์บรี ต้นแบบมาถึงทางรถไฟ แนวกีดขวางที่จะใช้กับยานยนต์นี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้คำแนะนำของสวินตัน และการทดลองก็ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1916้
คฤหาสน์แห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยนายทหารและผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงแห่งสหราชอาณาจักรในบรรดากลุ่มคนเหล่านี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น เดวิด ลอยด์ จอร์จ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ) อาเธอร์ บัลโฟร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) และวิลเลี่ยม โรเบิร์ตสัน (เสนาธิการทหารบกแห่งสหราชอาณาจักร) ลอร์ดโฮราชิโอ คิทเชเนอร์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม) ได้ไปร่วมงานด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาเองนั้นเป็นผู้ที่คัดค้านโครงการนี้
เมื่อตะวันตกดิน สัตว์ร้ายรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหุ้มเกราะขนาดใหญ่ก็ออกมาต้อนรับบรรดาผู้ชมด้วยเสียงคำรามของเครื่องยนต์ เดวิด ลอยด์ จอร์จ ประทับใจเป็นอย่างยิ่งเขาแสดงออกด้วยการกล่าวว่า “ผมรู้สึกตกตะลึงไปพร้อมกับความประหลาดใจอย่างที่สุดเมื่อเห็นเจ้าสัตว์ร้ายแสนน่าเกลียดที่มีชื่อว่า ‘ตะขาบหลวง’ คันนั้น”
นั่นเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกอันน่าประทับใจของรถถังที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นครั้งแรก
เขียนโดย Yuriy Bahurin
อ้างอิง:
Fedoseev S. L. Tanki Pervoy mirovoy. M., 2012.
Glanfield J. The Devil’s Chariots. Osprey, 2013.
Neillands R. The Great War Generals on the Western Front 1914-18. London, 1999.
Stern A. G. Tanks 1914-1918. The Log-Book of a Pioneer. London, 1919.
Swinton D. E. Eyewitness. Being Personal Reminiscences of Certain Phases of the Great War, Including the Genesis of the Tank. New York, 1933.